ชาวนากับเศรษฐีไม้เท้าทองคำ
ขอบคุณบทความดีๆ จาก http://www.eclubthai.com
บทที่ 5 "เอารองเท้าไปขาย... แต่อย่าขายรองเท้าให้เขา"
"การจะเป็นคนที่แตกต่างจากคนทั่วไป
เราจำเป็นจะต้องคิดไม่เหมือนพวกเขา
ถ้าเราคิดเหมือนเขา... เราก็จะเป็นเหมือนพวกเขา"
เศรษฐีพูดขึ้น หลังจากชายหนุ่มกลับมาปรึกษาเขา
"คนทั่วๆไป มักจะทำอะไรๆ ที่มันไม่ยุ่งยากซับซ้อน
เพราะมันง่ายกว่ากันเยอะเลย เขาไม่ค่อยอยากจะเสี่ยงกับเรื่องอะไร
ปล่อยให้ชีวิตมันดำเนินไปเรื่อยๆ ของมัน
แต่ไม่ใช่ความผิดของเขาหรอก
เพราะเขาก็มีความสุขในแบบของเขา"
เศรษฐีมองเข้าไปที่ดวงตาชายหนุ่ม
"เมื่อเธอต้องการที่จะแตกต่างจากพวกเขา
เธอจึงพูดว่า ถึงมันจะยาก... แต่มันก็เป็นไปได้
ส่วนคนที่พูดว่า ถึงมันจะเป็นไปได้... แต่มันก็ยาก
ความมุ่งมั่น ทุ่มเทของสองคนนี้ก็ต่างกันแล้ว"
เศรษฐีพูดต่อ
"เหมือนกับคนที่บอกตัวเองว่า อยากรวย
กับคนที่บอกกับตัวเองว่า ต้องรวย
เราสามารถทำนายอนาคต คนทั้งสองได้เลย"
เศรษฐียิ้มนิดหนึ่งที่มุมปาก
"เมื่อเธอตัดสินใจแล้วว่าจะทำ
ฉันก็อยากจะให้ข้อคิดเธอไปข้อหนึ่ง
เธอเอารองเท้าไปขายก็จริง แต่จงอย่าขายรองเท้าให้เขา"
.....................................
สามวันผ่านไป ที่เมืองคูขาด
ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ...
ชายหนุ่มขายรองเท้าได้ไม่ถึง 30 คู่
สถานที่ ๆ เขานำรองเท้าไปวางขายก็เป็นตลาดชุมชน
มีคนหนาแน่นมากมายจับจ่ายซื้อของ
ที่นี่ ถึงจะเป็นตัวเมือง แต่ผู้คนก็ใช้ชีวิตแบบพอเพียง
ไม่ยึดติดวัตถุนิยม อยู่กันอย่าสมถะ
อยู่กันอย่าเท้าติดดิน...
"เธอเอารองเท้าไปขายก็จริง แต่จงอย่าขายรองเท้าให้เขา"
คำพูดของท่านเศรษฐีดังก้องอยู่ในหูของเขา
เอารองเท้ามาวางขาย มันขายไม่ได้จริงๆ
แล้วจะขายอะไรเพื่อให้เขาซื้อรองเท้าล่ะ...
วันที่ 4 ของการอยู่ที่เมืองคูขาด
วันนี้ ชายหนุ่มมาขายของแต่เช้า
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไป...
เขาและลูกน้อง ช่วยกันจัดบอร์ด
ให้ความรู้เรื่องโรคที่เกิดจากการไม่ใส่รองเท้า
วันนี้เขาคิดว่าจะขายความกลัว...
กลัวที่จะเป็นโรคต่างๆ เหล่านั้น...
วันที่ 4 และ 5 ถึงแม้จะขายความกลัว
แต่เขาก็ขายรองเท้าได้ไม่ถึง 10 คู่
มันเกิดอะไรขึ้น ชาวเมืองส่วนใหญ่ ยังรู้สึกเฉยๆ
ไม่ได้สนใจเรื่องโรคต่างๆ ที่เขานำเอามาประกอบการขายเลย
และมีหลายๆเสียงพูดว่า
"ชาวเมืองทั้งหลายก็อยู่สุขสบายมาหลายร้อยปี
ไม่เห็นต้องใส่รองเท้าเลย หลายๆคนก็อยู่กันจนแก่จนเฒ่า"
เฮ้อ..... แล้วจะทำอย่างไรล่ะเนี่ย
จึงจะเปลี่ยนทัศนคติของชาวเมือง
ให้มาใส่รองเท้าได้นะ...
ส่วนตัวของเขาเองเชื่อมั่นอย่างเต็มที่เลยว่า
หากชาวเมืองนี้ ได้ใส่รองเท่า
รับรองว่า ทุกคนจะต้องใส่รองเท้าไปจนตลอดชีวติเลยล่ะ
เพราะเมื่อก่อนเขาเองก็ไม่ใส่รองเท้า
สมัยที่อยู่บ้านนอก จนเริ่มเป็นหนุ่ม ปีนั่นแหล่ะ
เขาจึงมีโอกาสได้รองเท้าคู่แรกในชีวิต
และตัวเขาเองก็พบว่า
รองเท้าเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหนึ่งของชีวิต นอกจากเสื้อผ้าอาภร...
ขณะที่เขากำลังเครียดอยู่นั่นเอง
ก็มีลุงชาวเมืองคนหนึ่ง มาซื้อรองเท้าของเขา
แกเลือกเบอร์ต่างๆ ของรองเท้ามาได้ 4 คู่
"ลุงเอา สี่คู่นะ" ลุงชาวเมืองคูขาดเอ่ยขึ้น
ชายหนุ่มอดสงสัยไม่ได้ เพราะทำไมลุงแกจึงซื้อไปเยอะขนาดนั้น
ทั้งๆ ที่รองเท้าคู่เก่าของแกก็ยังไม่สึกหรอเสียหายเลย
"รองเท้าลุงก็ยังดีอยู่เลย ทำไมลุงซื้อใหม่อีกล่ะครับ"
ชายหนุ่มถามด้วยความสงสัย
"ก็... ซื้อไปให้ลูกหลานด้วย อีกคู่ก็จะเก็บเอาไว้
เผื่อคู่นี้สึกแล้วจะได้มีรองเท้าใส่"
ลุงชาวเมืองตอบพร้อมกับยื่นเงินค่ารองเท้าให้
"คนเมืองนี้เขาไม่ใส่รองเท้ากัน
ลุงกลัวจะไม่มีใครเอามาขายอีก เลยซื้อเก็บไว้"
ลุงชาวเมืองยังพูดต่อ
"คู่แรกนี่... ลุงไม่ได้ซื้อหรอก
คราวก่อนโน้น คนขายรองเท้าเขาเล่นเกมส์ทายปัญหา
ใครตอบถูกก็ได้รองเท้าเป็นรางวัล
ลุงโชคดีตอบถูก"
"พอใส่รองเท้าแล้ว จึงเห็นคุณค่าของมัน
แล้วก็กลัวจะไม่มีใครเอามาขายอีก"
ลุงชาวเมืองรับเงินทอน แล้วก็เดินจากไป...
คำพูดของลุงชาวเมือง
ทำให้เขาเชื่อมั่นมากขึ้นไปอีกว่า
หากใครได้ใส่รองเท้า รับรอง ชีวิตนี้ เขาจะขาดรองเท้าไปไม่ได้...
แต่จะทำอย่างไรดีล่ะ จึงจะให้เขาได้ใส่รองเท้า
ครั้นจะแจกฟรี ก็ไม่ไหวแน่ๆ เพราะไม่ใช่การทำการค้า
และจะแจกฟรีได้สักกี่คน
คนในเมืองนี้ก็ร่วมๆ 2 แสนคน ใช่น้อยซะเมื่อไร
แต่หากทำตลาดได้ ยอดขายก็ไม่น้อยเหมือนกัน
ค่ำคืนของวันที่ 5 ที่เมืองคูขาด
หลังจากชายหนุ่มเสร็จภาระกิจประจำวันแล้ว
เขาก็ออกมานั่งใต้ต้นไม้ใหญ่ต้นหนึ่ง ข้างๆที่พัก
เขากำลังตัดสินใจว่าจะยอมแพ้ แล้วขนรองเท้ากลับ
หรือจะสู้ต่อดีนะ เพราะเขามีเวลาไม่มาก
ไม่มีเวลามากพอ ที่จะค่อยๆ ทำให้คนใส่รองเท้ากัน ทีละนิด
คนที่มาซื้อรองเท้าของเขาเกือบทั้งหมด
คือคนที่มีรองเท้าอยู่แล้ว
แต่ลูกค้ารายใหม่ แทบจะไม่มีเลย
การที่เขาเพ่งจิตอยู่ที่ความคิดนั้นเอง
ทำให้จิตของเขาเป็นสมาธิ จนจิตสงบ
เมื่อจิตสงบ ปัญญาก็เกิด
...........................
เขาร้องไชโย ในใจ
เขารู้แล้วว่าจะทำอย่างไร
นี่เองน่ะหรือ ที่ท่านเศรษฐีบอกว่า
"เธอเอารองเท้าไปขายก็จริง แต่จงอย่าขายรองเท้าให้เขา"
วิเศษจริงๆ เลย วิธีนี้
ได้ผลอย่างแน่นอน
และต่อไป เราก็จะยึดครองตลาดสิ้นค้ารองเท้าที่เมืองนี้ได้
ชายหนุ่มตื่นเต้นดีใจจนมือไม้สั่น
กับความคิดที่แสนจะวิเศษของเขา
พรุ่งนี้เช้า เขาจะเริ่มปฏิบัติการ ทันที...
เช้าวันรุ่งขึ้น...
ชายหนุ่มจัดการหาห้องเช่าได้แห่งหนึ่ง เพื่อเป็นโกดังเก็บรองเท้า
และเขาสั่งให้ลูกน้องขนรองเท้าลงจากรถเข้าโกดังให้หมด
เสร็จแล้วให้นำรถกับรองเท้าส่วนหนึ่งไปเจอเขาที่ตลาด
จากนั้นชายหนุ่มก็ตรงดิ่งสู่ตลาดกลางทันที
เขาเดินทักทายพ่อค้าแม่ค้าเกือบทุกเจ้าในตลาด
เมื่อกลับมาถึงที่แผงขายรองเท้าของเขา
เขาติดป้ายตัวใหญ่บะเร่อเทิ่มว่า....
"รับซื้อสินค้าการเกษตรทุกชนิด"
ที่เมืองนี้ ชาวเมืองส่วนใหญ่จะทำการเกษตรเป็นหลัก
ดังนั้นสินค้าการเกษตรที่เขานำมาขายจึงมีราคาไม่แพง
ข้อมูลที่ได้ก็มาจากการที่เขาเดินทักทายพ่อค้าแม่ค้านั่งเอง
ใช้เวลารออยู่ไม่นาน
ที่หน้าร้านของเขาก็มีผู้คนมากมายมายืนออกันแน่นเลยทีเดียว
เปล่าหรอก... ไม่ใช่เขามาซื้อรองเท้ากัน
แต่เขาพากันนำสินค้าการเกษตรมาขายให้ชายหนุ่ม
ชายหนุ่มเองก็รับซื้อสินค้าในราคาตลาดที่เขาเดินสำรวจมาแล้ว
นอกจากเงินที่ชาวเมืองได้กลับไป
ยังได้รองเท้ากลับไปอีกด้วย
บางคนก็ได้รองเท้าคู่หรือสองคู่
บางคนก็ได้มากกว่านั้น ตามปริมาณสินค้าที่นำมาขาย
ไม่น่าเชื่อว่า การขายรองเท้าโดยวิธีรับซื้อสินค้าจะได้ผล
ใช้เวลาไม่นาน สินค้าเกษตรก็เต็มรถ
ส่วนรองเท้าของเขาก็หมดไปเกินกว่าครึ่งหนึ่งที่เขานำมา
เมื่อปิดการรับซื้อสินค้าเกษตรเรียบร้อยแล้ว
ชายหนุ่มก็สั่งให้ลูกน้องคนหนึ่งอยู่เฝ้าโกดังรองเท้า
ส่วนเขาเองกับลูกน้องอีกคนรีบตีรถกลับ
เมื่อกลับมาถึงเมือง ชายหนุ่มก็ตรงเข้าสู่ตลาดทันที
เขาเดินเช็กราคาสินค้าเกษตรอยู่สักพัก
เมื่อได้รู้ราคาจนเป็นที่พอใจแล้ว
เขาก็หาที่เหมาะๆ นำสินค้าเกษตรที่เขาซื้อมาจากเมืองคูขาด
ขายส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้าที่ตลาดแห่งนี้
ข่าวการขายส่งของเขากระจายไปจนทั่วตลาด
และไม่นานนัก สินค้าของเขาก็ขายหมดเกลี้ยง
หลังจากคำนวณกำไร-ขาดทุนแล้ว
ก็เป็นตามที่เขาวางแผนไว้ตั้งแต่แรก
กำไรที่ได้จากการขายส่ง หักราคารองเท้า
ยังทำให้เขามีกำไรเหลืออีกพอสมควร
แต่สิ่งที่เขาจะได้ในอนาคตคือ
ตลาดรองเท้าที่เมืองคูขาดอย่างแน่นอน
ที่คฤหาสถ์ของเศรษฐีไม้เท้าทองคำ
ชายหนุ่มเล่าเรื่องต่างๆให้เศรษฐีฟัง
เศรษฐีถึงกับหัวเราะออกมาดังๆ...
"ฉันไม่คิดว่าเธอจะทำแบบนี้เลยนะเนี่ย...
ความหมายของฉันไม่ได้โลดโผนขนาดนี้"
เศรษฐีพูดไปอมยิ้มไป
"อย่าขายผักบุ้งไฟแดง แต่จงขายไฟที่มันลุกพรึ๊บ
เวลาเทผักบุ้งใส่กระทะ และขายผักบุ้งที่ลอยขึ้นไปบนฟ้า
แล้วตกลงมาสู่จานที่มีคนรอรับอยู่..."
เศรษฐีหยุดนิดหนึ่งเพื่อให้ชายหนุ่มจินตนาการณ์ตาม
"ฉันหมายถึงประมาณนี้...
แต่สิ่งที่เธอทำ ก็เข้าท่าดีเหมือนกันนะ
ขายโอกาส... ให้ชาวเมืองนั้นได้ใส่รองเท้า"
................................................
ชายหนุ่มวิ่งรถไปมาระหว่างสองเมืองอยู่หนึ่งอาทิตย์
เขาก็ตัดสินใจหยุดแถมรองเท้า
จากนั้นก็จัดการตกแต่งโกดังรองเท้าให้เป็นร้านรองเท้า
เพื่อรองรับลูกค้าที่ตั้งใจที่จะมาซื้อรองเท้า
จากการที่ได้รองเท้าเป็นของแถมกลับบ้านของชาวเมือง
ที่นำสินค้าเกษตรมาขาย
นอกจากได้ใส่รองเท้าเองแล้ว
ยังได้เผื่อแผ่ให้กับลูกหลาน ญาติสนิท มิตรสหาย
การได้ใส่รองเท้าของชาวเมืองเริ่มกระจายออกไป
เป็นอย่างที่ชายหนุ่มคิดเอาไว้
ค่านิยมการใส่รองเท้าเริ่มดีขึ้นเรื่อยๆ
คนที่ใส่แล้วก็จะบอกต่อถึงข้อดีแบบปากต่อปาก
คนที่ยังไม่มีโอกาสได้ใส่ ก็รู้สึกเหมือนตนเองตกยุค
ความรู้สึกทางด้านวัตถุนิยมเริ่มก่อกำเนิดขึ้น ถึงแม้จะเล็กน้อย
แต่ก็มีผลทางด้านจิตใจอยู่ไม่น้อยทีเดียว
ทำอย่างไรได้ เพราะนี่คือธรรมชาติของมนุษย์
ผู้ซึ่งยังหนาไปด้วยกิเลส
ไม่มีผู้ใดฝืนธรรมชาติไปได้เลย
ใครที่ล่วงรู้ความลับของธรรมชาติต่างหาก
ที่จะสามารถสร้างประโยชน์จากมันได้
แม้แต่เครื่องบินที่บินอยู่บนฟ้า
ก็ไม่ได้ฝืนกฎของธรรมชาติ
ใครจะไปคิดล่ะว่า ก้อนเหล็กหนักๆ จะลอยไปมาอยู่บนฟากฟ้าได้...
ก็เพราะมีผู้ล่วงรู้ธรรมชาติของแรงต้านของอากาศ
และพัฒนาขึ้นมาเรื่อยๆ
โธมัส เอดิสัน ก็ได้ล่วงรู้ธรรมชาติของกระแสไฟฟ้า
ตัวนำไฟฟ้า จนพัฒนาขึ้นมาเป็นหลอดไฟให้แสงสว่าง
ธรรมชาติ จึงเป็นสิ่งที่ควรเรียนรู้และทำความเข้าใจ
และพัฒนาความรู้ความเข้าใจ เพื่อนำไปประยุกค์ใช้งาน
แม้แต่การบริหารงานมนุษย์ด้วยกันเอง
ยังต้องรู้ถึงธรรมชาติของมนุษย์แต่ละคน
ซึ่งไม่มีใครจะเป็นได้เหมือนใคร
ใครล่วงรู้ธรรมชาติของมนุษย์
ก็จะบริหารงานมนุษย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ร้านรองเท้าของชายหนุ่มจึงเริ่มมีลูกค้ามากขึ้นเรื่อยๆ
จนในที่สุด.....
ชาวเมืองคนใดที่ไม่ใส่รองเท้า
กลายเป็นบุคคลที่แปลกและแตกต่างไปจากคนของชุมชน
เมื่อต้องวิ่งรอกรถไปมาระหว่างสองเมือง
ทำให้ชายหนุ่มกลายเป็นคนกลางของสินค้าของสองเมืองนี้
สินค้าหลากหลายชนิดเริ่มเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ
จากร้านขายรองเท้าเพียงอย่างเดียว
ได้พัฒนากลายมาเป็นร้านสรรพสินค้าของเมืองคูขาดไปเสียแล้ว
สินค้าฟุ่มเฟือยมากมายเริ่มเข้ามาสู่ตลาดของเมืองแห่งนี้
พร้อมกับพัฒนาการด้านวัตถุนิยมที่เริ่มมากขึ้นเรื่อยๆของชาวเมือง
ชานหนุ่มมองไปยังอนาคตของธุรกิจของเขาที่เมืองคูขาดนี้
สิ่งที่เขาเห็นก็คือ
จากการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรเพื่อระบายรองเท้า
ได้พัฒนากลายมาเป็น.....
"คูขาดพืชผล"
...ศูนย์รับซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ใหญ่โต
...ศูนย์จำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในการเกษตร
...ศูนย์สงเสริมการเกษตรครบวงจรทั้งพืชและสัตว์
เรื่องพืช ก็ขายตั้งแต่เมล็ดพันธุ์พืช ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง ยาปราบศัตรูพืช
ไปจนถึงการรับซื้อผลผลิตกลับคืนมา
เรื่องสัตว์ ก็ขายตั้งแต่พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ ยา วัคซีน
และการรับซื้อผลผลิตกลับคืน
นั่นคือพัฒนาการที่เป็นไปของร้านรองเท้า
กับร้านรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรเล็กๆในตอนต้น
ซึ่งใช้เวลาพัฒนาเป็นแรมปีเหมือนกัน
...........................................
หลังจากวิ่งรถขนสินค้าระหว่างสองเมือง
รวมทั้งเริ่มมีสินค้าแตกไลน์เพิ่มขึ้น
ชายหนุ่มก็พอจะมองอนาคตของพัฒนาการ
และการเติบโตของธุรกิจทั้งสองสายงาน
คือการเติบโตของร้านรองเท้าไปสู่ร้านสรรพสินค้า
และการเติบโตของร้านรับซื้อสินค้าเกษตรไปสู่ศูนย์เกษตรครบวงจร...
แต่เขามีเวลาไม่มากพอที่จะรอคอยวันนั้น
เพราะมันต้องใช้เวลาพัฒนาการ เกินกว่าเวลา 1 ปีที่เขามีอยู่
นี่ก็ล่วงเข้าสู่เดือนที่ 2 แล้ว เขาต้องทำอะไรสักอย่าง
เพื่อแก้ปัญหานี้ให้ได้...
หลังจากสอนงานให้ลูกน้องที่ไว้ใจได้เป็นงานแล้ว
ชายหนุ่มก็ปล่อยให้ลูกน้องวิ่งรอกระหว่างสองเมืองแทนเขา
ส่วนเขาเองก็กลับมาตั้งหลักที่คฤหาสถ์ของเศรษฐี
"ที่ปรึกษา...." ความคิดหนึ่งแล่นปรี๊ดขึ้นมาในสมองของเขา
ชายหนุ่มเคยอ่านหนังสือเกี่ยวกับการให้คนที่เก่งกว่าเรา ทำงานให้เรา
หรือเป็นที่ปรึกษาให้เรา
ชายหนุ่มรีบลงมือทันที
"ท่านเศรษฐีครับ..." ชายหนุ่มเอ่ยขึ้น
"ผมอยากให้ท่านช่วยแนะนำผู้บริหารเก่งๆ สักคนให้ผมหน่อยครับ"
ชายหนุมกล่าวต่อ
"เธอจะเอาไปทำไมรึ?..." เศรษฐีถามทั้งๆ ที่อ่านเกมส์ชายหนุ่มออก
"ผมมองเห็นการเติบโตของธุรกิจของผมในอนาคต
แต่ผมเองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะบริหารจัดการมัน
ให้เติบโตไปตามนั้นได้ครับ"
"แล้วเธอมีแผนการอย่างไรล่ะ" เศรษฐีถามอีก
"ผมจะตั้งทีมที่ปรึกษาเพื่อวางแผนบริหารงานเหล่านั้น
รวมทั้งงานอื่นๆ ที่จะเกิดขึ้นอีกครับ"
ชายหนุ่มตอบ
เศรษฐีนิ่งคิดอยู่สักครู่ จึงเอ่ยขึ้นว่า
"ได้สิ... ฉันจะแนะนำให้เธอ"
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น